• เรื่องเด่น

เหล่าสตรีผู้บุกเบิกวัฒนธรรมการวิ่งแบบใหม่ในอินเดีย

  • 16/5/2568

เรียบเรียงโดย Khorshed Deboo
ภาพโดย
Prarthna Singh

หมายเหตุของบรรณาธิการ: บทความนี้เผยแพร่ร่วมกับ The Established แพลตฟอร์มดิจิทัลในมุมไบที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม แฟชั่น ความงาม และศิลปะ

ตอนที่ Garima Dhamija วิ่ง เธอไม่ได้แค่วิ่งเพื่อนับระยะทางหรือพัฒนาเพซ
เธอโหยหาพื้นที่สำหรับตัวเอง สำหรับเส้นเรื่องของผู้หญิง "สำหรับผู้หญิงในอินเดีย การวิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเป็นอิสระอย่างมากเลยค่ะ" นักวิ่งมาราธอนและโค้ชวัย 51 ปีกล่าว "แรกเริ่มเดิมที ก็เป็นแค่การหาเวลาอยู่กับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน จากนั้นความรู้สึกประสบความสำเร็จก็ตามมา ทำให้รู้สึกมั่นใจ" Dhamija ผู้อาศัยอยู่ในคุรุคราม ซึ่งเป็นเมืองนอกเดลี ได้ค้นพบการวิ่งตอนอายุ 40 ปี ขณะที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและวัยหมดประจำเดือน ปัจจุบัน เธอทำสถิติวิ่งฮาล์ฟมาราธอนไปแล้วกว่า 100 ครั้ง และฟูลมาราธอน 10 ครั้ง รวมถึงที่บอสตัน ซึ่งจัดให้เธออยู่ในกลุ่มนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่เร็วที่สุดในกลุ่มอายุของเธอ

Garima Dhamija และ Niharika ลูกสาวของเธออยู่ในกลุ่มผู้หญิงกว่า 3,000 คนที่เข้าร่วมงาน After Dark Tour ของ Nike ที่มุมไบ

"สำหรับผู้หญิงในอินเดีย การวิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเป็นอิสระอย่างมากเลยค่ะ แรกเริ่มเดิมที ก็เป็นแค่การหาเวลาอยู่กับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน"

Garima Dhamija

"การวิ่งในความมืดไม่ใช่เรื่องปกติในอินเดีย ฉันนึกภาพไม่ออกเลย จะให้เดินเฉยๆ ยังไม่กล้าเลยค่ะ"

Garima Dhamija

ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2025 Dhamija กับ Niharika ลูกสาววัย 25 ปีอยู่ในกลุ่มผู้หญิงสามพันกว่าคนที่เข้าร่วมงาน Nike After Dark Tour ที่มุมไบ ซึ่งเป็นการแข่งวิ่งหญิงล้วนในตอนกลางคืนระยะทาง 10 กิโลเมตรซึ่งไม่มีใครเหมือน โดยจะวิ่งผ่านสถานที่สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง Dhamija กล่าวว่า "การวิ่งในความมืดไม่ใช่เรื่องปกติในอินเดีย มีงานตอนกลางคืนเล็กๆ สองสามงานในพื้นที่ที่ฉันอาศัยอยู่ ซึ่งเราไปวิ่งได้อย่างปลอดภัย แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ฉันนึกภาพไม่ออกเลย จะให้เดินเฉยๆ ยังไม่กล้าเลยค่ะ มันคือความรู้สึกที่ว่า เราไม่อาจทำในสิ่งที่ควรเป็นเรื่องปกติวิสัยได้"

ในขณะที่งานแข่ง After Dark ขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งขันวิ่ง 10K สำหรับผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียจนถึงทุกวันนี้ งานนี้กลับชี้ให้เห็นถึงขบวนการที่ใหญ่กว่านั้นมาก ผู้หญิงทั่วประเทศอินเดียผูกเชือกรองเท้าออกมาวิ่งเพื่อทวงคืนร่างกายและท้องถนนของพวกเธอ ตั้งแต่การวิ่งเหยาะๆ ตอนย่ำรุ่งไปจนถึงการวิ่งในยามเย็น ขบวนการนี้เป็นมากกว่าเรื่องความแข็งแรงของร่างกาย แต่เป็นเรื่องของอิสรภาพ อำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระ และมิตรภาพ

ค้นพบพลังจากความสามัคคี

สำหรับ Merlyn Matchavel การวิ่งในวันอาทิตย์ช่วยกำหนดทิศทางให้กับสัปดาห์ที่แสนยุ่ง ทำให้เธอรู้สึกสงบมากขึ้นและโฟกัสกับงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านมวัย 35 ปีจากมุมไบคนนี้ได้เริ่มวิ่งเมื่อราว 1 ปีที่แล้ว "หลังจากเรียนแพทย์มาหลายปี ฉันก็รู้ว่าฉันต้องกลับมาดูแลเรื่องสุขภาพค่ะ" เธอกล่าว "ฉันเริ่มจากการเดินในตอนเช้า แล้วก็ไปเห็นเหล่านักวิ่ง... พูดตามตรงนะคะ มันก็น่ากลัวอยู่ ฉันนึกสงสัยว่า ฉันจะทำแบบนั้นได้หรือเปล่านะ" ครั้งแรกที่เธอเข้าร่วม Sisters in Sweat ซึ่งเป็นชุมชนกีฬาและสุขภาพสำหรับผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เธอถึงกับหอบจนหมดแรง "ฉันวิ่งได้ไม่ถึงนาทีก็อยากจะหยุดแล้วค่ะ" เธอกล่าว "บางวันก็ยากที่จะฝืนตัวเอง แต่การได้ไปวิ่งกับกลุ่มผู้หญิงปลูกฝังให้ฉันมีวินัยและความสม่ำเสมออย่างมาก แล้วก็ทำให้รู้สึกมีพลังด้วยค่ะ" มีพลังมากเสียจนทำให้ตอนนี้ Matchavel กำลังเตรียมตัวสำหรับการวิ่งมาราธอนครั้งแรกที่เบอร์ลินในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

"การวิ่งและการพบปะพูดคุยกับผู้หญิงในชุมชน Sisters in Sweat ได้กลายเป็นการบำบัดสำหรับฉัน ฉันชอบการได้อยู่ข้างนอกกับกลุ่มเพื่อนที่ดี เป็นช่วงเวลาที่ฉันจะได้ผ่อนคลายค่ะ" Merlyn Matchavel กล่าว

"บางวันก็ยากที่จะฝืนตัวเอง แต่การได้ไปวิ่งกับกลุ่มผู้หญิงปลูกฝังให้ฉันมีวินัยและความสม่ำเสมออย่างมาก แล้วก็ทำให้รู้สึกมีพลังด้วยค่ะ"

Merlyn Matchavel

แม้เธอจะบอกว่าการฝึกซ้อมเพื่อวิ่งระยะทาง 42.2 กิโลเมตรนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่น แต่เพียงแค่ได้ดื่มกาแฟหรือทานอาหารเช้าหลังวิ่งกับเพื่อนนักวิ่งก็เป็นรางวัลที่เพียงพอแล้วสำหรับความพยายามอย่างหนักที่เธอได้ทุ่มเทไป "แล้วก็ยังมีเรื่องของความรับผิดชอบด้วยค่ะ ถ้าบอกเพื่อนไปแล้วว่าเช้าพรุ่งนี้จะไปวิ่งด้วย เราจะทำให้เพื่อนผิดหวังไม่ได้ เราจะต้องตื่น"

คนมักมองว่าการวิ่งเป็นกีฬาประเภทเดี่ยว แต่ระบบสนับสนุนไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ไม่ว่าจะฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ หรืออยู่กับคนแปลกหน้าก็ตาม Dhamija เล่าถึงบรรดาสาวๆ ที่เธอได้พบเป็นครั้งแรกขณะที่ไปวิ่ง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว พวกเธอสานสัมพันธ์กันด้วยการหยอกล้อและเล่าเรื่องที่รบกวนจิตใจ "ฉันคิดว่าเมื่อผู้หญิงสองคนวิ่งด้วยกัน สายสัมพันธ์ทางใจที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะก่อตัวขึ้น" เธอกล่าว "พวกคุณจะคุยกันได้ทุกเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ หรือเป็นความลับก็ได้ แล้วผู้หญิงอีกคนก็จะเข้าใจคุณ ในระหว่างที่วิ่งกับเหล่าหญิงสาวที่เป็นคนแปลกหน้า ฉันก็ได้คุยเรื่องภาวะหมดประจำเดือนกันอยู่หลายครั้ง ซึ่งยังคงเป็นหัวข้อที่พูดถึงกันอย่างเงียบๆ ใช่แล้วค่ะ จะคุยกันเรื่องผิวเผินก็ได้ แต่ก็คุยเรื่องที่รบกวนจิตใจอยู่จริงๆ ได้เช่นกัน"

ประโยชน์ของการวิ่งนั้นมีทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านอารมณ์ "คุณจะเห็นความล้มเหลวในการวิ่งมากมาย แม้ว่าจะทุ่มเทพยายามกันแค่ไหนก็ตาม" Dhamija กล่าวต่อ ปัจจุบันเธอต้องดูแลพ่อที่สูงอายุควบคู่ไปกับงานเต็มเวลาในฐานะโค้ชด้านความเป็นผู้นำและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล "จะยืดอกยอมรับความล้มเหลวพวกนี้อย่างสง่างามได้อย่างไร มันเป็นความรู้สึกของการที่ทำงานหนัก แล้วก็ได้แต่รอดูผลลัพธ์ นั่นคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ฉันได้เรียนรู้จากการวิ่ง นอกเหนือจากเรื่องความอดทน"

นอกเหนือจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและการค้นพบความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในชุมชน การวิ่งยังช่วยให้เรามองเมืองของตนเองผ่านมุมมองใหม่ๆ ราวกับการทำแผนที่ภูมิศาสตร์ทางจิตวิทยา ซึ่งตา ใจ และเท้าทำงานสอดคล้องกัน นี่เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกของ Mishti Khatri ครูฝึกมาราธอนและโค้ช Nike Run วัย 30 ปีที่อาศัยอยู่ในมุมไบ แม้ว่ากิโลเมตรที่หนึ่งหรือสองมักจะทรมานเสมอสำหรับ Khatri ที่เริ่มวิ่งเพื่อเอาชนะความกลัวการวิ่งในวัยเด็ก ไม่นานนักเธอก็จับจังหวะของตัวเองได้ "แต่ก่อนมันรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้ สำหรับฉันการวิ่งก็เหมือนการทำสมาธิขณะเคลื่อนไหวค่ะ เป็นพื้นที่ที่ทำให้มีความสุขมากๆ ฉันตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย" เธอบอก "พอวิ่งไปได้ครึ่งทาง พระอาทิตย์ก็ขึ้น ฉันรู้สึกเหมือนได้เห็นเมืองที่ปกติจะพลุกพล่านในมุมมองที่ต่างออกไป บางครั้ง ถ้าฉันขับรถผ่านเส้นทางวิ่งของตัวเอง ก็จะคิดว่าโห นี่เราวิ่งได้ไกลขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย เป็นเพราะการวิ่ง ฉันก็เลยรู้สึกผูกพันกับเมืองของฉันมากกว่าเดิม"

"ไม่ว่าเมื่อไร การวิ่งคือการแข่งขันกับตัวเอง และมันก็เป็นกีฬาที่จะเล่นที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้" Mishti Khatri โค้ช Nike Run กล่าว "เป็นหนึ่งในวิธีโปรดที่ฉันใช้สำรวจเมืองและสถานที่ต่างๆ ค่ะ"

"บางครั้ง ถ้าฉันขับรถผ่านเส้นทางวิ่งของตัวเอง ก็จะคิดว่า 'โห นี่เราวิ่งได้ไกลขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย' เป็นเพราะการวิ่ง ฉันก็เลยรู้สึกผูกพันกับเมืองของฉันมากกว่าเดิม"

Mishti Khatri

ปัจจุบัน Khatri กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านสมรรถภาพความทนทาน รอบประจำเดือน และไนเตรต โดยมีเป้าหมายที่จะมีส่วนช่วยในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นเฉพาะนักกีฬาหญิงในอินเดีย Khatri เป็นโค้ชให้กับผู้เข้าร่วมงาน After Dark Tour เป็นเวลา 10 สัปดาห์ การฝึกซ้อมเริ่มต้นด้วยนักวิ่ง 40 คน และเพิ่มขึ้นแบบปากต่อปากเป็นมากกว่า 400 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเป็นนักวิ่งหน้าใหม่

ขยายอนาคตของการวิ่งสำหรับผู้หญิงในอินเดีย

"การวิ่งตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ของอินเดียอาจมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกับผู้หญิง สำหรับ Dhamija การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงไม่ต้องกลัวที่จะออกไปข้างนอกคนเดียว และเธอก็กำลังทำหน้าที่ของเธอเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เธออยากเห็น "เมื่อหลายปีก่อน" Dhamija เล่า "ฉันกับผู้หญิงอีกสองสามคนมารวมตัวกันและทำสิ่งที่เรียกว่า 'Shed-It Run' ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือการถอดเสื้อยืดออกแล้ววิ่งโดยใส่สปอร์ตบรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติในอินเดียในเวลานั้น" ตอนที่ผู้จัดงานมาหาฉันแล้วถามว่าอยากมาร่วมงานด้วยไหม ฉันก็ตอบอย่างไม่ลังเลเลยค่ะ แต่พอฉันนำเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนผู้ชายที่เป็นนักวิ่ง พวกเขาก็เป็นห่วงมาก และไม่ได้ห่วงแค่เรื่องความปลอดภัยของพวกเรา นั่นคือสิ่งที่กวนใจฉันค่ะ และนั่นคือตอนที่ฉันรู้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

"การได้เห็นผู้หญิงมารวมตัวกันและมีประสบการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจมากค่ะ ฉันได้เห็นความมั่นใจของพวกเธอเพิ่มขึ้นตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา"

Mishti Khatri

แต่ทุกรอบที่วิ่งก็เต็มไปด้วยความหวัง ในมุมไบ เด็กสาวหลายคนกำลังตั้งชมรมวิ่งของตัวเองและบันทึกเรื่องราวทุกย่างก้าวจากหยาดเหงื่อลงบนโซเชียลมีเดีย หลายคนในกลุ่มนี้มาเข้าร่วม Nike After Dark Tour ที่มุมไบ งานนี้ทำให้ได้เห็นผู้หญิงจากหลากหลายช่วงวัยมารวมตัวกันเพื่อออกวิ่งบนท้องถนนในค่ำคืนที่อบอ้าวแต่ก็น่าตื่นเต้น "การได้เห็นผู้หญิงมารวมตัวกันและมีประสบการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจมากค่ะ ฉันได้เห็นความมั่นใจของพวกเธอเพิ่มขึ้นตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา" Khatri กล่าว 

ในขณะที่ผู้หญิงในเมืองของอินเดียจากทุกช่วงวัยและภูมิหลังออกมาวิ่งบนท้องถนนเพื่อทวงคืนพื้นที่ สิทธิในการตัดสินใจ และอัตลักษณ์ของตน Dhamija ตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคที่ยังมีอยู่ ได้แก่ การขาดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย การตีตราทางวัฒนธรรม ความรับผิดชอบของการเป็นผู้ดูแลคนอื่น และการมีผู้หญิงในบทบาทโค้ชและบทบาทผู้นำเป็นตัวแทนอย่างจำกัด เธอเชื่อว่าชุมชนขนาดเล็กที่มีคนที่คุ้นเคยกันและมีเป้าหมายร่วมกันจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ "อย่างในหรยาณา การที่ผู้หญิงจะเล่นกีฬาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดูผู้หญิงที่เล่นมวยปล้ำสิคะ" เธอกล่าว "โครงการระดับรากหญ้า และแม้แต่แบรนด์ต่างๆ ช่วยทำให้การวิ่งเป็นเรื่องปกติในลักษณะเดียวกันได้"

การเป็นที่รู้จักเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น อนาคตของการวิ่งในอินเดียจะขึ้นอยู่กับว่าจะกลายเป็นขบวนการที่ขยายเป็นวงกว้างได้หรือไม่ เป็นขบวนการที่ไม่ได้ต้อนรับผู้หญิงแค่ในฐานะผู้เข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจ โค้ช และผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย

"การช่วยให้ใครบางคนวิ่ง 10 กิโลเมตรได้สำเร็จนั้นชวนให้อิ่มเอมใจพอๆ กับการช่วยให้ใครบางคนติดทีมโอลิมปิก" Diljeet Taylor โค้ช Nike Run กล่าว

ใครกันที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ Diljeet Taylor โค้ช Nike Run ผู้ฝึกสอนนักกีฬา All-American มากว่าร้อยคนและรับตำแหน่งหัวหน้าโค้ชของ Nike After Dark Tour ได้เป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมระดับโลกของ Nike After Dark Tour อีกด้วย Taylor เกิดที่แคลิฟอร์เนีย มีพ่อแม่เป็นชาวอินเดียที่เป็นผู้อพยพ และเข้าเรียนชั้นประถมโดยพูดได้แต่ภาษาปัญจาบี จนกระทั่งเธอเริ่มวิ่งแข่ง (และชนะ แล้วก็ยังเอาชนะเด็กผู้ชายได้ด้วย) ตอนนั้นแหละที่เธอได้ค้นพบตัวเองอย่างแท้จริง "ฉันเติบโตมาในฐานะเด็กผู้หญิงที่ไม่เคยเห็นผู้หญิงอินเดียเล่นกีฬาเลย ที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่ถูกกีดกันด้วยซ้ำค่ะ" เธอกล่าว "ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาจริงๆ ในฐานะผู้หญิงอินเดีย" 

"ฉันเติบโตมาในฐานะเด็กผู้หญิงที่ไม่เคยเห็นผู้หญิงอินเดียเล่นกีฬาเลย ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาจริงๆ ตอนนี้เลยเป็นเหมือนเรื่องราวที่จบสมบูรณ์แล้ววนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง เป็นช่วงเวลาที่ฉันภูมิใจเกินกว่าจะบรรยายได้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน"

Diljeet Taylor โค้ช Nike Run

ปัจจุบัน Taylor ประจำอยู่ที่รัฐยูทาห์ ซึ่งเธอเป็นโค้ชให้กับทีมครอสคันทรีหญิงและทีมกรีฑาหญิงดิวิชั่น 1 ของมหาวิทยาลัย Brigham Young เธอเดินทาง 48 ชั่วโมงมายังมุมไบเพื่อเข้าร่วม After Dark Tour "ตอนนี้เลยเป็นเหมือนเรื่องราวที่จบสมบูรณ์แล้ววนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง เป็นช่วงเวลาที่ฉันภูมิใจเกินกว่าจะบรรยายได้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน" เธอกล่าว นอกเหนือจากหน้าที่อย่างเป็นทางการใน After Dark Tour แล้ว Taylor ยังหาเวลาไปรับประทานอาหารเช้าในวันแข่งขันกับ Dhamija, Matchavel และ Khatri ซึ่งเธอเคยคุยด้วยทางวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัวในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ Taylor รู้ดีว่าสิ่งที่ผู้หญิงรู้สึกในตอนที่วิ่งผ่านเส้นชัยนั้นเป็นอะไรมากกว่าแค่ชัยชนะ "มันมีเรื่องของความรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่พวกเธอทำได้ ขอบคุณที่มาร่วมแข่งและทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ คนส่วนใหญ่คิดว่าความสุขที่ได้จากการวิ่งคือความรู้สึกปีติยินดีจากการทำระยะทางหรือเพซได้ตามเป้าหมาย แต่เหนือกว่าความปีติยินดีนั้น คือความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง" เธอกล่าว

ด้วยเหตุนี้ Dhamija จึงสรุปว่า "ถ้าทำอย่างถูกต้อง การวิ่งเพื่อสุขภาพสามารถพัฒนาไปเป็นขบวนการที่เปิดกว้างและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับผู้หญิงในอินเดียได้" แล้วคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ล่ะ Matchavel มีคำแนะนำว่า "ฉันได้เรียนรู้ที่จะไม่สนใจ แล้วก็ Mute พวกเขาในโซเชียลมีเดียไปเลย ไม่ต้องรับฟังรับรู้อะไรและทำให้พวกเขาเงียบไปเอง นี่คือชัยชนะที่เงียบงัน"

สำหรับงาน After Dark Tour 10K ไม่มีอะไรที่เงียบงันเลย มันทำให้ท้องถนนของมุมไบมีชีวิตชีวาด้วยเสียงเชียร์ที่อึกทึกครึกโครมและเสียงรองเท้าผ้าใบกระทบพื้นถนน ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้หญิงอินเดียมีความหลงใหลในการวิ่ง เพื่อตัวของพวกเธอเองและเพื่อกันและกัน และพวกเธอก็ไม่แสดงท่าทีว่าจะชะลอตัวลงเลยแม้แต่น้อย

  • เรื่องราว
  • ผลกระทบ
  • บริษัท
  • ห้องข่าว
      • © 2025 NIKE, Inc. สงวนลิขสิทธิ์