Profile view of young John McEnroe in a speaking pose.
  • แบรนด์แห่งนักกีฬา

เสียงของนักกีฬา

  • 12/7/2565

โดย Adam Bradley

50 ปีของ Nike มีเสียงเป็นแบบไหนกัน เสียงย่ำเท้าบนลู่วิ่งที่ทำจากโพลียูรีเทน เสียงกระทบตาข่ายไนลอนของลูกบอลสีเหลืองเรืองแสง เสียงเอี๊ยดอ๊าดของพื้นรองเท้ายางบนคอร์ทขัดเงาวับ แต่เหนือสิ่งเหล่านี้ Nike มีเสียงเหมือนนักกีฬาของตัวเอง ในยุคแรก ทุกคนน่าจะได้ยินเสียงของแต่ละคนดังออกมา ไม่ว่าจะเป็น Steve Prefontaine, Joan Benoit Samuelson หรือ George "The Iceman" Gervin ยิ่งผ่านไปหลายทศวรรษ เสียงเหล่านี้ยิ่งดังขึ้น และหลากหลายมากขึ้น ทั้ง John McEnroe, Bo Jackson และ Michael Jeffrey Jordan และยังมี Tiger, Serena, LeBron ไปจนถึง Ronaldo, Mbappe และ Naomi แต่ละทศวรรษผ่านไป เสียงขับขานจากทุกคนก็ค่อยๆ ก่อตัวจนประสานกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างเด่นชัด 

และ Nike ก็รับฟัง John Slusher รองประธานบริหารฝ่าย Global Sports Marketing ของบริษัทกล่าวว่า "การฟังเสียงของนักกีฬาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับเรา" ขณะเดียวกัน Slusher ก็ใช้เวลากับทีมอย่างหนักในการตอบสนองความต้องการของนักกีฬา หรือแม้แต่คาดการณ์ว่าความต้องการนั้นน่าจะเป็นอะไร ดาวรุ่ง WNBA อย่าง Sabrina Ionescu อาจต้องการอะไรต่างจากผู้เล่นที่อยู่ในวงการมา 18 ปีอย่าง Diana Taurasi บางทีอาจต้องการคำปรึกษาทางธุรกิจ หรือบางทีอาจจะอยากไปลองรองเท้าที่สั่งทำไว้ที่ Sports Research Lab นักกีฬาส่วนใหญ่อาจชอบเวลาได้นวดบำบัด แต่สำหรับนักวิ่งระยะ 10,000 เมตรอย่าง Shalane Flanagan การได้ใช้เครื่องนวดความร้อนปานกลางอาจทำให้เธอเร็วขึ้น 1 วินาทีจนสามารถเข้ารอบไฟนอลและไม่ต้องแพ้กลับบ้านได้เลย


"การฟังเสียงของนักกีฬาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับเรา"

John Slusher, รองประธานบริหารฝ่าย Global Sports Marketing
Illustration of a cycle diagram displaying a heart, pointing to an ear, pointing to a book, pointing to a shoe, pointing back to the heart, with a Nike Swoosh in the center.

ใช่ Nike รับฟัง และการฟังก็มาพร้อมการเรียนรู้ จึงเกิดเป็นคำถามว่า เราจะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร เราจะสร้างธุรกิจให้ดีกว่าเดิมอย่างไร เราจะตอบสนองต่อความต้องการในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งอย่างไร การเรียนรู้ก็มาพร้อมการเติบโต เราไม่เพียงพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น แต่ยังพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น เราสนับสนุนนักกีฬาที่มีจุดยืนต่อความยุติธรรมทางสังคม เราให้เสียงของผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในโลกกีฬาและโลกธุรกิจ การเติบโตก็มาพร้อมความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่นที่เกิดจากการทุ่มเทลงทุนในผู้คนและในหลักการที่กำหนดคุณค่าของบริษัท และความมุ่งมั่นนั้นก็มาพร้อมสายสัมพันธ์ครอบครัวระหว่าง Nike กับนักกีฬา Slusher จะรู้สึกเครียดเวลาต้องดูงานแข่งกีฬารายการใหญ่ๆ นั่นเพราะ "ถ้าเป็นทีมจาก Nike 2 ทีมแข่งกัน หรือมีนักกีฬา Nike อยู่อีกฝั่งด้วย ผมจะทำใจดูไม่ได้เลย" เขากล่าว "สำหรับ Nike โดยภาพรวมและสำหรับทีมของเรา เรารักนักกีฬาของเรา เรารักกีฬาของเรา"

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักกีฬาของ Nike ได้แสดงการตอบแทนต่อความมุ่งมั่นนั้น ไม่ว่าจะเป็น Derek Jeter ตำนานทีม New York Yankees ที่หลังจากฉลองงานวันเกิดจนถึงเช้า ได้ไปปรากฏตัวในงานที่รวมร้านค้าปลีกสำคัญๆ ของ Nike เพราะเขารู้ว่ามันสำคัญต่อบริษัท หรือจะเป็น Kobe Bryant ซึ่ง Slusher จำได้ว่าเข้าร่วมงานกิจกรรมของ Nike 92 งานในหนึ่งปีปฏิทิน แม้จริงๆ แล้วเงื่อนไขคือให้เข้าเพียง 8 ครั้งเท่านั้น บางทีเวลาพูดถึง Nike Family หลายคนอาจจะนึกถึงภาพแบบนี้ก็ได้ และบางทีอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลามีงานแข่งขันรายการใหญ่ๆ บรรยากาศมักจะเป็นเหมือนคนในครอบครัวได้กลับมาเจอกัน โดยมีนักกีฬารุ่นเก่าคอยต้อนรับสมาชิกนักกีฬารุ่นใหม่ หรืออย่างในวันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ นักอเมริกันฟุตบอลที่เป็นสุดยอดผู้เล่นของ Nike บางคนก็ใช้เวลานั่งอัดเสียงต้อนรับสมาชิกใหม่ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ผู้สนับสนุนรายใหม่ล่าสุด นักกีฬารุ่นเยาว์ คนที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย ที่พอได้รับข้อความส่วนตัวจากสุดยอดนักอเมริกันฟุตบอลอย่าง Barry Sanders หรือ Jerry Rice จะรู้สึกดีใจเหมือนฝันเป็นจริง และที่ Nike ความฝันนั้นมักเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันอื่นๆ ที่ตามมา 

"เรามองนักกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Nike และอยากช่วยทุกคนให้ประสบความสำเร็จ" Slusher กล่าว ใครๆ ก็ชอบอุปมาแบบนี้ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งช่วยปลุกใจได้แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมองค์กรมักจะเปิดรับความอบอุ่นกลมเกลียวของการอยู่ด้วยกันได้เร็ว แต่ก็มักจะละเลยความรับผิดชอบที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวไปด้วย แต่ก็อย่างที่ Barry Sanders ได้อธิบายไป "Nike เจอทางออกแล้ว Nike ไม่ได้สนับสนุนนักกีฬาเฉพาะในกีฬาที่เล่น แต่สนับสนุนทุกๆ เรื่องที่นักกีฬาสนใจนอกเหนือจากกีฬานั้นด้วย นี่คือการสร้างความร่วมมือที่ดีและความสัมพันธ์ที่ดีกับนักกีฬา" Jerry Rice กล่าวเสริม Nike สนับสนุนคุณในฐานะนักกีฬาก็จริง แต่มันเป็นเรื่องของการตอบแทนซึ่งกันและกันมากกว่า เขาอธิบาย "เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน และคุณรู้ว่านักกีฬามีคุณคอยสนับสนุน ส่วนคุณก็มีนักกีฬาคอยสนับสนุน มันจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ" Rice กล่าว

Alex Morgan กับเส้นทาง Nike ที่เธอสร้างขึ้น เป็นตัวอย่างของจิตวิญญาณแบบครอบครัวที่ Sanders กับ Rice กล่าวไว้ เมื่อ Morgan อายุ 7 ขวบ เธอและเพื่อนในละแวกบ้าน 2 คนได้ตั้งชมรม Nike ขึ้นเป็นของตัวเอง และมักจะนัดเจอกันที่สวนหลังบ้านของครอบครัว Morgan ในเมืองไดมอนด์บาร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในบ้านสีขาวหลังเล็กๆ ที่ประดับด้วยลาย Swoosh ซึ่งเด็กๆ วาดบนผนังเองกับมือ "เราพยายามวาดโลโก้ Nike ให้ออกมาสวยที่สุด" Morgan เล่า "ตั้งแต่ตอนนั้น ฉันก็เป็นแฟนตัวยงของ Nike ค่ะ" หลังจากสร้างผลงานฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างโดดเด่น Morgan ก็เข้าสู่วงการมืออาชีพและไม่นานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Nike "การได้เซ็นสัญญาการสนับสนุนครั้งแรกกับ Nike เป็นความฝันที่เป็นจริงค่ะ " เธอกล่าว และได้เซ็นสัญญานั้นในปี 2011 "แล้วการเดินทางที่ทั้งยาวนานและน่าทึ่งของพวกเราก็เริ่มต้นตั้งแต่นั้น" การเดินทางที่ Morgan ได้แชมป์บอลโลก 2 สมัย 1 เหรียญทองโอลิมปิก และเป็นสุดยอดผู้เล่นในฟุตบอลระดับสโมสร

แต่สิ่งที่น่าจดจำที่สุดสำหรับ Morgan ในฐานะนักกีฬา Nike ไม่ได้อยู่ในสนามแข่ง มันคือปี 2019 ที่เธอพักจากการแข่งขันพร้อมกับตั้งท้องลูกคนแรก ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญมากที่ในปีนั้น Nike ก็ได้เปิดตัวคอลเลกชันสำหรับคุณแม่ด้วยเหมือนกัน "ฉันได้ตัวที่เป็นต้นแบบรุ่นแรกๆ เลยค่ะ" เธอกล่าว เวลาใส่ชุด Nike ที่ได้มาใหม่ เธอจะรู้สึกกระฉับกระเฉงและสบายตัว ซึ่งนั่นทำให้เธอรู้สึกมั่นใจและแข็งแรงไปด้วย "แค่รู้สึกว่ามีคนช่วยเหลือ ไม่ใช่แค่บนสนามแข่งแต่ในการเป็นแม่ด้วย มันรู้สึกดีมากๆ ค่ะ" เธอเล่า ตอนนี้ เธอและลูกชายที่อยู่ในวัยหัดเดินมีชุด Jordan ไว้ใส่คู่กันแล้ว ครอบครัวของ Nike ค่อยๆ เติบโตขึ้น

"Nike เจอทางออกแล้ว Nike ไม่ได้สนับสนุนนักกีฬาเฉพาะในกีฬาที่เล่น แต่สนับสนุนทุกๆ เรื่องที่นักกีฬาสนใจนอกเหนือจากกีฬานั้นด้วย นี่คือการสร้างความร่วมมือที่ดีและความสัมพันธ์ที่ดีกับนักกีฬา"

Barry Sanders, รันนิ่งแบ็กแห่ง NFL และผู้เล่นบนหอคอยแห่งเกียรติยศของลีก

ในการสัมภาษณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง Phil Knight ที่ตอนนี้อายุ 86 เคยอธิบายให้ Harvard Business Review ฟังเมื่อปี 1992 ว่าบริษัทมองหาอะไรในตัวพาร์ทเนอร์ "เทคนิคคือการมองหานักกีฬาที่ไม่ได้ชนะเป็นอย่างเดียวแต่ยังปลุกอารมณ์คนเป็นด้วย" เขากล่าว ซึ่งตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษ คุณจะเห็นว่า Nike ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น Andre Agassi, Charles Barkley, Emma Raducanu หรือ Ja Morant เมื่อได้พบนักกีฬาเหล่านี้ Nike ก็หวังที่จะได้เติบโตร่วมกัน "เราค่อยๆ ใช้เวลาเพื่อรู้จักและทำความเข้าใจ เราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับนักกีฬาของเรา" Knight อธิบาย "ความสัมพันธ์นั้นมากกว่าแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ ในธุรกิจ John McEnroe กับ Joan Benoit ใส่รองเท้าของเราทุกวันทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสัญญา เราชอบพวกเขาและพวกเขาชอบเรา เราชนะใจได้และชนะเท้าได้ด้วย"

ถ้าจะสรุปแนวทางของ Nike ง่ายๆ ก็คือการชนะใจและชนะเท้านี่แหละ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น เพราะความเป็น Nike คือการเป็นมากกว่าโค้ชและนักกีฬา เฉกเช่นความสัมพันธ์ระหว่าง Knight กับโค้ชแห่ง University of Oregon อย่าง Bill Bowerman แม้ในชั่วระยะเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ บริษัทจะพัฒนาไปมากแค่ไหน ภูมิทัศน์ทางกีฬาจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเดิมเสมอ "ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป เรายังคงเริ่มต้นด้วยนักกีฬาที่เก่งที่สุด กับเรื่องราวที่ดีที่สุด พร้อมสวมสินค้าที่ดีที่สุด แล้วออกไปชนะ มันอยู่บนท้ายรถคันนั้นของ Phil มันคือการคว้าคนที่มีแววจะชนะมาราธอนให้มาสวมรองเท้าของคุณ และในบางมุม ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมในวันนี้ โลกอาจจะกว้างใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน แต่เรายังคงเฟ้นหานักกีฬาเก่งๆ มาร่วมมือกันและช่วยเหลือให้พวกเขาประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง"

และความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อนักกีฬาเหล่านั้น บริษัทยังคงจดจำผ่านแคมปัสสาขาบีเวอร์ตัน รัฐโอเรกอน ด้วยการตั้งชื่ออาคารตามเหล่าสุดยอดนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด "อาคารแต่ละหลังตั้งชื่อตามเหล่าชายและหญิงที่ให้เรามากกว่าชื่อและการสนับสนุน" Knight อธิบายในบันทึกชีวประวัติปี 2016 ของตนอย่าง Shoe Dog "ทั้ง Joan Benoit Samuelson, Ken Griffey Jr., Mia Hamm, Tiger Woods, Dan Fouts, Jerry Rice, Steve Prefontaine ทุกคนทำให้เราเป็นเราในวันนี้"

"การตั้งชื่ออาคารตามนักกีฬาเป็นไอเดียที่เจ๋งมาก" John McEnroe กล่าว เขาคือหนึ่งคนที่เป็นชื่อของอาคารในแคมปัสและเป็นพาร์ทเนอร์นักกีฬาที่ยาวนานที่สุดของ Nike คือ 44 ปีและยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเป็นแชมป์แกรนด์สแลมทั้งหมด 7 สมัยตลอดเส้นทางอาชีพ ความสัมพันธ์อันยาวนานของแชมป์เทนนิสคนนี้กับ Nike ชี้ให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนว่าบริษัทคิดอย่างไรกับผู้สนับสนุนของตน ซึ่งแม้แต่ Knight ก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่านักกีฬาที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของ Nike ตลอด 50 ปีมีทั้งหมดกี่คนกันแน่ แต่ไม่ว่าเวลาไหน บริษัทก็รักษาตัวเลขความสัมพันธ์กับนักกีฬาและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกไว้ที่เกือบ 16,000 ราย โดยเมื่อไม่นานมานี้ Forbes รายงานว่านักกีฬาที่มีรายได้สูงสุด 100 อันดับแรกนั้น มีจำนวนมากกว่าครึ่งเป็นสมาชิกครอบครัว Nike เพราะ Nike คือแบรนด์ของแชมเปี้ยน

Champion. Noun: A person who has defeated or surpassed all rivals in a competition, especially in sports. Verb: To support the cause of.

คุณสามารถเขียนประวัติของ Nike ในช่วง 50 ปีแรกได้ผ่านเหล่าแชมป์ที่แบรนด์คัดสรรมา นี่คือบุคคลผู้มีความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ และความมุ่งมั่นนั้นก็ช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับสูงสุดในกีฬาที่เล่น LeBron James และ Serena Williams, Giannis Antetokounmpo และ Naomi Osaka, Rafa Nadal และ Sam Kerr รวมถึงคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะคำว่า "Champion" ในที่นี้เป็นคำนามที่ใช้จดจำความสำเร็จในอดีต ส่วน Nike ในฐานะบริษัทขอรับคำว่า "Champion" ที่เป็นคำกริยา ซึ่งหมายถึงการอุทิศตัวเพื่อสนับสนุนเป้าหมายและความต้องการของนักกีฬาในสังกัดอย่างแข็งขัน และในจดหมายของ Knight เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของ Nike เขาเขียนถึงความเชื่อนี้ว่า "ตั้งแต่วันแรก ทุกสิ่งที่เราทำและยังคงทำอยู่คือการปลดปล่อยศักยภาพของนักกีฬาทุกคนทั่วโลก"

หากถามว่าจะสนับสนุนแชมป์ได้อย่างไร ลองถามแชมป์ Super Bowl 3 สมัยอย่าง Jerry Rice แล้วให้เขาตอบดูสิ เขาจะบอกว่ามันเริ่มจากการมีชุดที่ได้คุณภาพและเป็นชุดที่ดูดีที่สุด "มันเป็นเรื่องของสไตล์! คือการมี Nike Swoosh อยู่บนชุด" เขากล่าวระหว่างสวมเสื้อยืด Nike โดยมีโลโก้ Swoosh พาดหน้าอก "ผมจำได้ว่าตัวเองพยายามหาทางแปะเทปให้โลโก้มันออกมาโดดเด่นที่สุด แค่มีโลโก้อยู่ตรงนั้น ผมก็รู้เลยว่าวันนั้นผมจะต้องทำอะไรพิเศษๆ แน่นอน"

เมื่อลองถามนักกีฬาดูว่าถ้าให้เลือกเก็บของสักชิ้นไว้ในแคปซูลเวลาเพื่อรอเปิดในวันครบรอบ 50 ปี Nike จะเลือกอะไร มีหลายคนเลยที่พูดถึงแคมเปญโฆษณาช่วงปลายยุค 80 และต้นยุค 90 ซึ่งนำแสดงโดย Michael Jordan ซึ่งถ้าจะให้ชี้ชัดกว่านั้น มันก็คือโฆษณาปี 1989 ที่กำกับโดย Spike Lee และนำแสดงโดย Lee ในบทบาทของ Mars Blackmon ที่มาพร้อมประโยคสุดอมตะอย่าง "It’s gotta be the shoes!" (ต้องเป็นเพราะรองเท้าแน่ๆ)

ประโยคนี้ยังคงอยู่ในใจใครหลายคน เพราะในการเยี่ยมชมแคมปัส Nike เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการถามแชมป์ NBA ตัวตึงอย่าง Giannis Antetokounmpo ว่าถ้าให้นึกถึง Nike จะนึกถึงเกี่ยวกับอะไร เขาตอบในทันทีว่า "รองเท้า โดยเฉพาะรองเท้าที่ได้มาฟรี คู่ที่ผมมีอยู่บ้านนั่นแหละ" เขากล่าวพลางฉีกยิ้มกวนๆ ที่ทุกคนรู้กันดีว่าเป็นบุคลิกขี้เล่นของหนึ่งในสุดยอดนักกีฬาที่มีความสามารถมากที่สุดในโลก จากนั้นเขาก็สลับไปใช้น้ำเสียงที่จริงใจและสุขุมอย่างรวดเร็ว Nike ทำให้นึกถึงอะไร? "วัฒนธรรมที่ Nike สร้างมาตลอดหลายปี" เขากล่าว "เวลานึกถึง Nike ผมจะนึกถึงนักกีฬาที่คอยเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของ Nike"

"เวลานึกถึง Nike ผมจะนึกถึงนักกีฬาที่คอยเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของ Nike"

Giannis Antetokounmpo, แชมป์ NBA และ MVP 2 สมัย

Barry Sanders คือส่วนสำคัญในการเดินทางของ Nike และ Nike ก็เป็นส่วนสำคัญในการเดินทางของเขา ตลอดเส้นทางอาชีพ Sanders เป็นคนใจกว้างกับเพื่อนร่วมทีมและยินดีมอบนาฬิกา Rolex กับทีวีจอใหญ่ให้เป็นของขวัญไลน์แมนในทีม แม้ว่าตัวเองจะใช้จ่ายค่อนข้างประหยัดก็ตาม เวลาได้เจอนอกสนาม คุณอาจเห็นเขาอยู่ในชุดที่ Nike ส่งให้ใส่ทั้งตัวก็ได้ เพราะไหนๆ Nike ก็ให้ชุดมาฟรีแล้วทำไมยังต้องจ่ายตังซื้อเสื้อผ้าเองอีกล่ะ แถมเวลาใส่ชุดที่มี Swoosh ยังรู้สึกภาคภูมิใจด้วย "มันเหมือนตรารับรอง" Sanders กล่าวในวันนี้ขณะนึกถึงวันที่ตนตัดสินใจเซ็นสัญญากับ Nike "ผมก็เหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ"

ในอดีตที่ผ่านมา คนอื่นๆ ที่ว่าหลายคนเป็นผู้หญิง และ Nike ก็ยังคงขับเคลื่อนองค์กรบนความมุ่งมั่นที่มีให้กีฬาผู้หญิง และเพิ่มความสำคัญให้กับลูกค้าที่เป็นผู้หญิง "อยู่กับ Nike แล้ว ได้มีโอกาสระดมสมองร่วมกัน ได้ประชุมกับคนที่มีแผนสำหรับอนาคตไว้แล้วจริงๆ สนุกมากเลยค่ะ" Alex Morgan กล่าว "มันรู้สึกดีเวลาได้ฟังมุมมองของนักกีฬา กับเวลาอยู่ในที่ที่นักกีฬารู้สึกว่าสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่จริงๆ" ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Nike กำหนดรูปแบบของการพูดคุยปรึกษากับนักกีฬาอย่างไม่เป็นทางการนี้ พร้อมกับเปิดตัวโครงการ Athlete Think Tank ที่มุ่งเป้าไปยังการลงทุนในอนาคตของกีฬาหญิง ในบรรดาสมาชิกผู้ก่อตั้ง 13 คน หนึ่งในนั้นคือ Serena Williams ผู้ที่ให้ทั้งวิสัยทัศน์และการสนับสนุนแก่งานสำคัญนี้ "ฉันว่า Nike เรียนรู้อะไรจากฉันและทีมไปเยอะทีเดียว" Williams กล่าว "ฉันช่วยสอน Nike ว่าต้องรู้จักขยับตัวให้ไวขึ้นและใช้สัญชาตญาณมากขึ้น" แน่นอนว่าเธอก็ได้เรียนรู้จาก Nike เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีวางแผนเป้าหมายระยะยาว หรือวิธีวางแผนเพื่อความสำเร็จ Paula Badosa ดาวเทนนิสชาวสเปนอายุ 26 ปี แม้จะมีอายุเพียงครึ่งหนึ่งของ Nike แต่ก็เข้าใจในแนวคิดนี้ "ความฝันของเราในฐานะนักกีฬาได้กลายเป็นความฝันของแบรนด์" เธอกล่าว เสียงของนักกีฬาคือเสียงที่ดังกังวาน

"ฉันว่า Nike เรียนรู้อะไรจากฉันและทีมไปเยอะทีเดียว ฉันช่วยสอน Nike ว่าต้องรู้จักขยับตัวให้ไวขึ้นและใช้สัญชาตญาณมากขึ้น"

Serena Williams แชมป์เทนนิส

ตัวเสียงเองก็เป็นนักกีฬา เราได้ยินเสียงจากการทำงานร่วมกันระหว่างปอดและกล้ามเนื้อช่องท้อง ระหว่างเส้นเสียงและกล่องเสียง ระหว่างลิ้นและฟัน ทั้งในขณะรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่อุทิศชีวิตเพื่อฝึกฝนร่างกายให้มีศักยภาพสูงสุด ที่จะมีเสียงอันทรงพลังเช่นกัน A'ja Wilson ผู้คว้าแชมป์ระดับมหาวิทยาลัย ออลสตาร์ 3 สมัยกับตำแหน่ง MVP ในลีก WNBA ก่อนอายุ 26 ปี เข้าใจถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของเธอในการเป็น "ผู้เปล่งเสียงให้คนไร้เสียง" เธอกล่าว ในช่วงหลายเดือนหลังจากตำรวจยิง Breonna Taylor เสียชีวิต (เธอคือหญิงผิวดำอายุ 26 ปีจากเมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ผู้ถูกวิสามัญในระหว่างการบุกค้นโดยไม่ได้รับอนุญาตในอพาร์ตเมนต์ของเธอเอง) Wilson คือคนที่ออกมาส่งเสียงโดยใช้แพลตฟอร์มที่เธอได้รับจากความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาของเธอ ตามข้อมูลสื่อเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2020 ก่อนที่ทีม Las Vegas Aces ของเธอจะเริ่มเกม 3 ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศกับ Connecticut Sun คือเวลา 1 วันหลังจากที่ Wilson พบว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตายของ Taylor ไม่มีใครถูกตั้งข้อหา และทำให้เธอเปล่งเสียงออกมาจากจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น "Black Lives Matter ไม่ใช่เรื่องที่เอาไว้เกาะกระแสหากิน" เธอกล่าว "มันคือคำประกาศ คือชีวิตที่ฉันใช้ ฉันคือผู้หญิงผิวดำ คุณช่วงชิงทุกอย่างที่ฉันหามาด้วยตัวเองไปจากฉัน และฉันเป็นผู้หญิงผิวดำ"

Wilson รู้ว่า Nike สนับสนุนเธอและให้อิสระในการแสดงออก ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังเข้าใจดีว่า Nike ให้เครื่องมือที่ช่วยขยายเสียงเธอ ทำให้เสียงดังไปไกลขึ้นและมีน้ำหนักมากขึ้น "Nike ช่วยเราบอกเล่าเรื่องราวในแบบที่เราต้องการบอกได้เก่งมากๆ" เธอกล่าว "แค่เป็นตัวของตัวเองแล้วที่เหลือ Nike จัดการให้เอง ฉันซาบซึ้งใจมากและคิดว่านักกีฬาคนอื่นก็คงรู้สึกเหมือนกัน"

"ความฝันของเราในฐานะนักกีฬาได้กลายเป็นความฝันของ Nike"

Paula Badosa นักเทนนิสชาวสเปน
Illustration of an asterisk.

Nike เชื่อว่าทุกคนคือนักกีฬา* นั่นไม่ใช่วาทศิลป์กลวงเปล่าแต่เป็นความจริงที่ชี้แนวทาง เพราะแน่นอนว่ามันสะท้อนความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ในด้านธุรกิจ แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือมันสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์การบริการที่ต้องการเข้าถึงทุกคนจริงๆ ผมถามลูกสาวสองคน คนหนึ่ง 8 ขวบ อีกคน 11 ขวบ ว่าการใส่ชุดที่มี Swoosh มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร และคำตอบก็แทบจะคล้ายกับที่ฟังจากนักกีฬา Nike เลย มันทำให้รู้สึกเร็วขึ้น มั่นใจมากขึ้น ใส่แล้วสบายตัว "พ่อคะ" ลูกสาวคนโตพูด แทบจะเก็บความรู้สึกของตัวเองไม่อยู่ "มันเจ๋งมากค่ะ" ทั้ง Jerry Rice, Mia Hamm, Ada Hegerberg และ Eliud Kipchoge ทุกคนเห็นตรงกันว่า 50 ปีของ Nike ยังแจ๋ว

"Never Done" (ไม่เคยหยุดยั้ง) คือสโลแกนฉลองครบรอบ 50 ปีของ Nike ที่สั้นกระชับและให้แรงบันดาลใจ ซึ่งในแง่นี้จะคล้ายกับแท็กไลน์ที่โด่งดังที่สุดของแบรนด์อย่าง "Just Do It" ที่ทำให้ John McEnroe ย้อนนึกถึงตอนที่ผู้บริหาร Nike พยายามเสนอสุดยอดแท็กไลน์นี้ให้เขาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน "เห่ยไป! คนไม่ซื้อหรอก" เขากล่าว "คงชัดแล้วล่ะว่าเรื่องนั้นผมคิดผิด" McEnroe ยอมรับด้วยการส่ายหัวเขินๆ วันนี้ผมลองเสนอสโลแกนใหม่ให้ McEnroe ดูบ้างและเขาก็พยักหน้า "ใช้ได้" เขาตอบ "เพราะนั่นทำให้ผมเชื่อว่าแม้จะผ่านมานานถึง 50 ปีแล้ว Nike ก็ยังอยากอยู่ต่ออีกสัก 50 ปี"

  • เรื่องราว
  • ผลกระทบ
  • บริษัท
  • ห้องข่าว
      • © 2024 NIKE, Inc. สงวนลิขสิทธิ์