บากบั่นมุ่งหน้า: นักกีฬา Nike 4 คนพูดถึงความฮึดสู้ รากเหง้า และความพากเพียร
- 17/4/2568

ก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนนิยามของสิ่งที่เป็นไปได้ มีความมั่นใจ
Dur Bali, Nader El-Jindaoui, Rouguy DIallo และ Intisar Abdul-Kader คือเหล่านักกีฬา Nike จากหลากหลายประเภทกีฬาและทวีปที่เติบโตในสายอาชีพจากการฮึดสู้ พวกเขาผ่านการบาดเจ็บขณะฝึกซ้อมจนเก่งขึ้น เอาชนะคำสบประมาท และภูมิใจในรากเหง้าของตน พร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ออกไล่ล่าความยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
สำหรับนักกีฬาทั้งสี่ การเผชิญอุปสรรคแต่ละครั้งคือการก้าวไปข้างหน้า ทุกสิ่งกีดขวางคือโอกาส ในบทความนี้ พวกเขาจะมาทบทวนถึงช่วงเวลาแห่งการทดสอบ กิจวัตรที่เป็นรากฐาน และวิธีการสร้างเส้นทางใหม่ๆ เพื่อตัวเอง และเพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

Dur Bali
21 ปี นักบาสเก็ตบอลตำแหน่งฟอร์เวิร์ด ซาอุดีอาระเบีย ลงแข่งในการแข่งขัน Saudi National Basketball Cup หญิงครั้งแรก
บาสเก็ตบอลอยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่จำความได้แล้วค่ะ ฉันโตมากับกีฬาบาสเก็ตบอล ไม่ว่าจะเป็นการดูคุณตาแข่ง หรือแค่สัมผัสบรรยากาศบนคอร์ท แต่ฉันตกหลุมรักบาสเก็ตบอลจริงๆ ตอนที่ได้ลงแข่งจริงจังค่ะ อะดรีนาลีนที่พุ่งพล่าน จังหวะของเกมการแข่งขัน และความจดจ่อที่ทำให้เรื่องอื่นๆ นอกสนามกลายเป็นอากาศธาตุ มันอบอุ่นเหมือนเป็นบ้านเลย
ฉันรู้ว่าอยากเป็นนักบาสมืออาชีพก็ตอนที่รู้ตัวว่าไม่ได้เล่นเอาสนุกแล้ว ตอนนั้นฉันวิเคราะห์เกมการแข่ง ตื่นมาฝึกแต่เช้า คอยผลักดันตัวเองให้ไปไกลกว่าขีดจำกัดเพราะอยากโดดเด่น ไม่ใช่แค่เล่นได้ดี
ช่วงวัยรุ่น ฉันอยู่ที่โคโลราโดพักหนึ่ง ซึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เลย การอยู่ตรงนั้นทำให้ฉันได้มุมมองที่ต่างจากเดิม ทั้งการใช้ชีวิต แล้วก็การเล่นบาสเก็ตบอลด้วย เกมที่นั่นเร็วกว่า ใช้พลังมากกว่า แถมนักแข่งเก่งๆ ที่นั่นก็มีอยู่เยอะมาก มันบีบให้ฉันต้องพัฒนาตัวเอง ต้องเล่นให้ฉลาดขึ้น อึดขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็แสดงให้เห็นว่าบาสเก็ตบอลเป็นกีฬาที่มีทุกที่ ไม่ว่าตัวคุณจะอยู่ที่ไหน ความรักในเกมการแข่งขันเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ประสบการณ์ครั้งนั้นช่วยให้ฉันพัฒนาทัศนคติที่เพียรพยายามมากกว่าเดิม และฉันก็พกสิ่งนั้นติดตัวกลับมาด้วยค่ะ
คุณตาคือคนแรกที่สอนเรื่องบาสเก็ตบอลให้ฉันจริงๆ แกเคยเป็นนักบาสเก็ตบอลมืออาชีพ และแกคอยพร่ำบอกเสมอว่า ความเก่งจะทำให้เราเป็นที่รู้จัก แต่วินัยและการทุ่มเทแรงใจจะทำให้เรายืนยาวอยู่ในวงการ คุณตาสอนให้ใจเย็นๆ เวลาอยู่ในคอร์ท คอยดูจังหวะเมื่อต้องชะลอ สอนวิธีอ่านเกมการตั้งรับ และวิธีเล่นให้ฉลาด แบบที่ไม่ได้ทุ่มแรงกายอย่างเดียว ส่วนเวลาอยู่นอกคอร์ท แกก็คอยเน้นย้ำถึงความซื่อสัตย์ แกจะบอกว่า "การวางตัวตอนไม่ได้แข่งสะท้อนถึงตัวเราเวลาแข่งบนสนาม" คำพูดนี้ติดอยู่ในใจฉันค่ะ คุณตาแสดงให้เห็นว่าการเป็นนักกีฬาไม่ได้มีแค่การแข่งให้ชนะ แต่ยังมีเรื่องของการเป็นผู้นำ ความไม่ยอมแพ้ และการเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อปี 2021 ฉันบาดเจ็บที่ข้อเท้า ทำให้ต้องเป็นตัวสำรองไม่ได้ลงสนามนานเกือบหนึ่งปีเต็ม เป็นช่วงที่ยากสุดๆ ช่วงหนึ่งบนเส้นทางการเป็นนักกีฬาเลยค่ะ การโดนบังคับให้นั่งอยู่ข้างสนามทั้งๆ ที่อยากลงแข่งเนี่ยทำให้ใจเราพังมากๆ
การบาดเจ็บครั้งนั้นสอนให้ฉันใจเย็น รวมถึงความสำคัญในการเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ ฉันเลือกโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้ อย่างการทำกายภาพบำบัด การตั้งมั่นตั้งใจ และศึกษาเกมจากมุมมองที่ต่างออกไป มันทำให้ฉันเรียนรู้ว่านอกจากการก้าวผ่านความเจ็บปวดแล้ว ความฮึดสู้ยังเป็นเรื่องของการปรับตัว การเรียนรู้ และการกลับมาอย่างแข็งแกร่งกว่าที่เคย

Nader El-Jindaoui
28 ปี นักเตะปีกขวา เยอรมนี เพิ่งเซ็นสัญญากับ LA Galaxy
ครั้งแรกที่ผมตกหลุมรักกีฬาฟุตบอลคือตอนที่เห็นการเล่นของทีมบราซิล Joga Bonito น่ะครับ จำได้ไหม มันคือแคมเปญ Nike สำหรับฟุตบอลโลกปี 2006 ที่แปลว่า "เล่นอย่างงดงาม" พอผมเห็นเขาเตะบอลเหมือนเต้นกัน ผมก็ชอบสุดๆ เลย รู้สึกอยากทำแบบนั้นได้บ้าง มันคือความงามของการแข่งขัน เป็นตอนที่ผมรู้ตัวเลยว่าฟุตบอลนี่แหละคือสิ่งที่ผมรัก ผมตกหลุมรักในวิธีการเล่นของทีมนี้ พวกเขาจุดไฟในตัวผม
นี่ไม่ใช่ทางที่ง่ายเลย ผมได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักตั้งแต่ยังเด็ก หมอบอกว่าผมจะเล่นฟุตบอลไม่ได้อีก มีช่วงที่ผมไม่ได้เล่นฟุตบอลเลยสองปี แต่ผมเชื่อมั่นในตัวเอง ผมทำเพื่อครอบครัว พวกเขาเชื่อมั่นในตัวผมตอนที่ไม่มีใครเชื่อ ครอบครัวคือเหตุผลที่ทำให้ผมไม่ยอมแพ้ พวกเขาไม่ได้มีอะไร แต่ก็มอบทุกอย่างให้ ทั้งอาการบาดเจ็บ ปัญหาการเงิน ความกดดัน ทุกอย่างที่ว่ามาอาจทำให้ผมหยุดเล่น แต่ผมเลือกไปต่อ ผมอยากช่วยครอบครัว อยากตอบแทนทุกสิ่งอย่างที่ครอบครัวทำให้ ถึงหมอจะบอกว่าผมเล่นไม่ได้ ผมก็ยังยึดมั่นในความฝันของตัวเอง
พอมีลูก ความคิดว่า "อยากทำให้ได้" ก็กลายมาเป็น "ต้องทำให้ได้" พอเราเป็นพ่อคน เราจะทำเพื่อลูกของเราครับ เราอาจจะคิดว่าใส่เต็มร้อยแล้ว แต่พอมีลูก เราต้องทุ่มอีกเท่าตัว เหมือนปลดล็อคพลังวิเศษ
ภรรยาของผม ผมคงทำตามเป้าไม่ได้ถ้าขาดเธอไป เธอเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของผม ส่วนครอบครัวเป็นเชื้อเพลิง ที่คอยเติมพลังให้ ถ้าขาดครอบครัวไป ผมคงไม่มีทางสำเร็จตามเป้าหมายได้ครับ
ผมย้ายจาก Hertha Berlin มา LA Galaxy ทุกอย่างใหม่หมดเลย วัฒนธรรม ภาษา สภาพอากาศ ผมเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์ ที่เยอรมนี เขาบอกว่าอายุ 28 ถือว่าแก่แล้ว แต่ผมตั้งใจจะแสดงให้ทุกคนเห็นว่ามันยังไม่จบสำหรับผม มันไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เป็นเรื่องของฝีมือ นั่นแหละเป้าหมายของผม เพื่อแสดงให้เยอรมนีและโลกใบนี้ได้เห็น
ผมกังวล ผมตื่นเต้น ใจผมเองก็กลัว แต่ผมสู้กับความกลัวนั้น ชีวิตของผมเป็นแบบนี้มาตลอด ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางคนบอกผมว่าควรอยู่ที่เยอรมนี เพราะมันเป็นเซฟโซน แต่ผมไม่อยากมองย้อนมาทีหลังแล้วรู้สึกว่าไม่ได้พยายาม ผมไม่ได้แค่กำลังพยายาม แต่ผมอยากทำให้ได้ครับ

Rouguy Diallo
30 ปี นักเขย่งก้าวกระโดด ฝรั่งเศส นักกีฬาโอลิมปิก และแชมป์การแข่งขัน World Junior ปี 2014
ฉันเป็นคนชอบแข่งขันมาตลอดค่ะ ฉันได้ที่สองมานานมาก มันรู้สึกว่าเข้าใกล้มากแล้ว แต่ยังไม่ถึงสักที จนวันหนึ่ง คุณพ่อที่อยู่กินีโทรมาหาก่อนฉันแข่ง พ่อให้กำลังใจ แล้วฉันก็ได้ที่หนึ่ง นั่นคือตอนที่ฉันรู้ตัวว่าอยากแข่งไปตลอดชีวิต มันเป็นสิ่งที่ฉันรัก และฉันอยากชนะ ชนะอีก ชนะไปเรื่อยๆ
กีฬาที่เริ่มเล่นไม่ใช่การเขย่งก้าวกระโดด ฉันลงแข่งมาหลายประเภท ก่อนที่จะเจอสิ่งที่ใช่ ตอนอายุ 15 ฉันลงแข่งสัตตกรีฑาเป็นหลัก กระโดดไกล วิ่งข้ามรั้ว 100 เมตร ซึ่งระยะ 100 เมตรเป็นงานแข่งโปรดของฉัน ฉันคล่องตัวมาก ทำได้หลายอย่าง จากนั้น ที่งาน French Championship ฉันก็กระโดดต่อหน้า Teddy Tamgho ที่เป็นเจ้าของสถิติโลกการแข่งเขย่งก้าวกระโดดในตอนนั้น เขาเห็นอะไรบางอย่างในตัวฉัน แล้วถามว่าอยากฝึกกับเขาไหม ถ้าเจ้าของสถิติโลกชวนให้ไปฝึกด้วยกัน ใครๆ ก็คงไม่ลังเล ฉันทิ้งทุกอย่าง ทั้งการแข่งประเภทรวม กีฬาประเภทอื่นทั้งหมด แล้วหันมาโฟกัสกับการเขย่งก้าวกระโดดอย่างเดียว
ฉันเคยลงแข่งงานระดับสูงสุดมาแล้ว ทั้ง European Championship และโอลิมปิก แต่น่าแปลกที่ฉันไม่ได้ภูมิใจกับการแข่งในงานพวกนั้นที่สุด ตอนที่ฉันภูมิใจสุดกลับเป็นตอนคว้าเหรียญทองที่งาน Junior World Championship ปี 2014 ค่ะ เป็นการคว้าเหรียญในงานแข่งนานาชาติครั้งแรก ถึงจะเคยแข่งในงานที่ใหญ่กว่านี้ ฉันก็จะไม่ค่อยภูมิใจถ้าไม่ได้เหรียญมาคล้องคอ ฉันเป็นคนแบบนี้น่ะค่ะ ฉันจดจำชัยชนะ เพราะมันคือช่วงเวลาที่ฉันภูมิใจที่สุด
อาชีพนี้ไม่ง่ายเลย ฉันบาดเจ็บบ่อยๆ ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บสาหัสด้วย เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดเลย ทุกๆ ปี ประมาณไม่กี่เดือนก่อนการแข่งครั้งใหญ่ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นเสมอ อะไรที่ทำให้ฉันฝึกไม่ได้เป็นเดือนๆ แต่ฉันก็กลับมาได้ตลอด กลับมาแข่งได้อีกครั้ง
Teddy คือแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดเลยค่ะ เขาสอนฉันทุกอย่าง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เขามีทัศนคติที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาต่างจากคนอื่นๆ เขาผลักดันฉันให้แข็งแกร่งขึ้น ให้เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และไม่หยุดอยู่แค่ปัจจุบัน เขาเจาะจงกับรายละเอียดเล็กๆ ทุกเรื่องระหว่างฝึก แล้วก็อธิบายว่า ถ้าอยากเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม เราก็ต้องไร้ที่ติ เขาสอนเรื่องการรักษาวินัย เขาทำให้ฉันมีเทคนิคที่แข็งแรง จนรู้ว่าร่างกายของฉันพร้อมลงแข่งทุกครั้ง ฉันมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์เรื่องทักษะที่มี
ความเชื่อที่ฉันมีก็หล่อหลอมตัวฉันด้วย ตัวตนของฉันมาจากความเชื่อ เวลาที่พลาด ฉันจะพึ่งพาความเชื่อ เวลาชนะ ฉันก็พึ่งพาความเชื่อ มันสอนให้ฉันรู้จักผ่อนคลายบ้าง และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสิ่งที่พระองค์กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือดี มันมีเหตุผลเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ

Intisar Abdul- Kader
38 ปี นักวิ่งมาราธอน สหราชอาณาจักร ชาวบริติชโซมาลีแลนด์คนแรกที่ไปถึง Everest Base Camp One
ฉันเพิ่งแข่งสนามสุดท้ายจาก World Marathon Majors ทั้ง 6 สนาม ทำให้ฉันเป็นหญิงสาวชาวบริติชโซมาลีแลนด์คนแรกที่ทำได้ ฉันทุ่มเทเวลาหลายปีไปกับการฝึก การมีวินัย และความไม่ย่อท้อเพื่อที่จะมาถึงจุดนี้ จนตอนนี้ที่วิ่งเข้าเส้นชัยสนามสุดท้ายแล้ว มันรู้สึกยอดเยี่ยมจริงๆ ค่ะ
การฝึกเป็นส่วนที่ยากที่สุดเสมอ ส่วนวันแข่งเป็นเหมือนการฉลองค่ะ ฉันวิ่งผ่านเส้นทางยากๆ อย่างที่บอสตันกับนิวยอร์ก แต่ฉันก็สนุกในทุกๆ นาทีที่วิ่ง ความยากเลยไม่ได้รบกวนอะไรมาก นักวิ่งระยะไกลชาวโซมาลีแลนด์คนอื่นๆ เติมไฟให้ฉันสุดๆ เลย เรามีนักกีฬาเก่งๆ มากมาย และการได้เป็นส่วนหนึ่งของตำนานนั้นมันมีความหมายกับฉันมากจริงๆ
ฉันได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบ (MS) ก่อนเริ่มเรียนปริญญาโท การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันมาตลอด แต่การเป็นโรคนั้นทำให้ฉันหันมาลงวิ่งระยะไกลค่ะ ฉันเคยวิ่งตอนมัธยม ตอนเรียนวิทยาลัย แต่หลังจากนั้น ฉันต้องกำหนดกิจวัตรให้ตัวเอง ต้องมีเวลาให้ตัวเองได้เคลียร์หัว ฉันเริ่มวิ่งให้ไกลขึ้นจากเดิม เริ่มจากวิ่ง 5 กิโลเมตรที่สวนแถวบ้าน แล้วก็ขยับมา 10K จากนั้นก็เป็นฮาล์ฟมาราธอน ฉันใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจนกล้าพอที่จะสมัครวิ่งในรายการ London Marathon แล้วก็ได้! มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน 10 ปีเป๊ะเลยค่ะ
ฉันสมัครลงวิ่งมาราธอนเมื่อปี 2016 ฉันได้วิ่ง แล้วก็ไม่เคยหันหลังกลับไป การวิ่งช่วยให้ฉันจัดการกับอาการ MS ได้ค่ะ จริงๆ มันช่วยเรื่องอาการอ่อนเพลีย ซึ่งก็แปลกดีเพราะว่าเราเองก็เหนื่อยจากการวิ่ง แต่มันทำให้ฉันโฟกัสกับการเคลื่อนไหวร่างกาย และใช้มันเป็นวิธีรับมืออาการเหนื่อยล้าที่จู่ๆ ก็เป็น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการทรงตัวและภาวะบ้านหมุน การวิ่งทำให้ฉันรู้สึกถึงความมั่นคง ทำให้รู้สึกควบคุมสิ่งที่ฉันไม่ได้คุมได้อย่างเต็มที่ แล้วฉันก็มีสุดยอดทีมแพทย์ที่คอยช่วยเหลือด้วย
นอกจากวิ่งมาราธอนแล้ว ฉันก็พิชิต Everest Base Camp One ด้วย มันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่ฉันเคยทำมาเลย การไต่ขึ้นไปไม่แย่เท่าการเดินลงมาค่ะ ขาลงมันน่ากลัวมาก ทั้งลื่น ทั้งหนาว ฉันกลัวล้มด้วย ตอนที่หนาวที่สุดเป็นช่วงวันท้ายๆ ก่อนถึง Base Camp One ตอนนั้นอากาศติดลบ 25 องศาเซลเซียส ไม่อยากเชื่อเลยค่ะว่าตัวเองทำได้ แต่การไปถึงยอดเขา ได้ปักธงโซมาลีแลนด์ มันเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดมากเลย
วันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี รัฐบาลโซมาลีแลนด์จะโพสต์ภาพฉัน เป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจมากๆ การเดินเขาครั้งนั้นทำให้ฉันอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงมุสลิมค่ะ ฉันอยากแสดงให้เห็นว่าเรามีความฝันได้ และโลกคือพื้นที่ที่รอให้พวกเธอมาสำรวจ
การเป็นนักวิ่งมุสลิมแบบเปิดเผยก็มีความยากในแบบของมัน ฉันรู้สึกซาบซึ้งกับฮิญาบ Nike ที่วางจำหน่ายปี 2017 มากๆ เพราะก่อนหน้านั้น ฉันต้องใช้ผ้าอื่นๆ สวมคลุมเป็นฮิญาบเอาเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันยากที่จะออกกำลังกายกับอุปกรณ์ที่เหมาะสม ถึงจะมีฮิญาบแล้ว แต่ฉันก็ถูกจับจ้องอยู่ดี ที่งาน Chicago Marathon ปี 2019 มีผู้ชายมาลูบหัวฉันตรงเส้นสตาร์ท แล้วบอกว่าชอบ "ผ้าคลุมหัว" ที่ฉันใส่ ตอนนั้นช็อคไปเลยค่ะ เราเองก็กังวลอยู่แล้ว แล้วยังมีคนอื่นมารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวอีก แต่โชคดีที่นักวิ่งคนอื่นเข้ามาช่วยค่ะ
เป็นจุดที่สอนให้ฉันยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ คนอื่นอาจจะจดจ้อง อาจจะพูดอะไรไปต่างๆ นานา แต่ฉันไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมาหยุดฉัน