• นวัตกรรม

Bill Bowerman: นักนวัตกรรมคนเริ่มแรกของ Nike

  • 2/7/2567

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 Bill Bowerman โค้ชกรีฑาผู้มากประสบการณ์ไม่พอใจกับรองเท้าวิ่งพื้นตะปูที่มีอยู่ซึ่งสร้างขึ้นจากหนังและโลหะที่หนัก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงหมกมุ่นกับการหาทางลดน้ำหนักของรองเท้าเพื่อช่วยให้นักวิ่งวิ่งได้เร็วขึ้น ภารกิจของเขาจบลงด้วยการสร้างนิยามใหม่ให้กับรองเท้ากีฬา 

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ความมุ่งมั่นและความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่ลดละของ Bowerman ได้นำไปสู่ความสำเร็จที่เรียงร้อยต่อกันเป็นเรื่องราว เขาเกิดในปี 1911 ที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน และเป็นนักกีฬาตัวแทนสถาบันที่เก่งคนหนึ่งขณะเข้าเรียนอยู่ที่ University of Oregon และต่อมาก็ได้รับการยอมรับในฐานะโค้ชฟุตบอลและกรีฑาระดับมัธยมปลาย เขาเข้าร่วมการต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาเยี่ยงวีรบุรุษที่ประดับด้วยเหรียญเกียรติยศ ในปี 1948 Bowerman กลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเก่า และในช่วงอายุ 24 ปี เขาพามหาวิทยาลัยคว้าแชมป์กรีฑา NCAA 4 รายการและโค้ชให้กับนักวิ่งที่วิ่ง 1 ไมล์ได้ในเวลาต่ำกว่า 4 นาทีถึง 16 คน นอกจากนี้เขายังแนะนำให้ชุมชนเมืองยูจีนรู้จักการวิ่งจ๊อกกิ้งในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งช่วยจุดประกายปรากฏการณ์ระดับชาติ และเขาเข้ารับตำแหน่งโค้ชกรีฑาทีมโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกาในปี 1972

"รองเท้าต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง นั่นคือจะต้องเบา ใส่สบาย และไปได้ไกล"

Bill Bowerman ผู้ร่วมก่อตั้ง Nike

Bill Bowerman กับนักกีฬากรีฑา Oregon ราวปี 1969

Bowerman ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษา โค้ช และเพื่อนของ Phil Knight ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้ง  Blue Ribbon Sports ขึ้นในปี 1964 ก่อนที่จะมาเป็น Nike ในภายหลัง ความมั่นใจและคำปรึกษาของเขาช่วยให้โมเดลธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทประสบความสำเร็จและเติบโต ซึ่งก็คือการนำเข้าและขาย รองเท้าวิ่ง สัญชาติญี่ปุ่น 

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมรองเท้าของ Bowerman เองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีอิทธิพลมากกว่า และกำหนดทิศทางแนวคิดของ Nike ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของนักกีฬาในการออกแบบสินค้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

สร้างรองเท้าที่ดียิ่งขึ้น

Bowerman เริ่มดัดแปลงรองเท้าวิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยเขาติดต่อบริษัทรองเท้าหลายแห่งเพื่อนำเสนอไอเดียในการปรับปรุงรองเท้าเพื่อให้ช่วยนักวิ่งได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีใครยอมรับคำแนะนำของเขา ถึง Bowerman จะผิดหวังแต่ก็ไม่ย่อท้อ เขาจึงลงมือทำด้วยตัวเองและเรียนรู้วิธีการผลิตรองเท้าจากคำแนะนำของช่างซ่อมรองเท้าในท้องถิ่น ตอนเริ่มต้น เขาได้ปรับโครงสร้างรองเท้าวิ่งแข่งที่มีอยู่ใหม่ด้วยเครื่องเลื่อยสายพานและตรวจสอบกายวิภาคของรองเท้า จากนั้นเขาก็ลองหยิบจับแผ่นพื้นตะปูโลหะกับพลาสติกและประกอบส่วนบนหลายๆ แบบจากหุ่นรองเท้าที่หลากหลาย ต่อมา ช่างทำรองเท้าจากสปริงฟิลด์ให้คำแนะนำทางเทคนิคและสาธิตวิธีประดิษฐ์รูปแบบรองเท้าให้ Bowerman ดู 

Bill Bowerman และ Phil Knight ที่โอเรกอน

Phil Knight เป็นนักกีฬาตัวแทนสถาบันคนแรกที่ได้ลองใส่รุ่นต้นแบบของ Bowerman ในจดหมายถึง Knight ลงวันที่ 8 สิงหาคม 1958 Bowerman เสนอให้มีกิจวัตรการเวทเทรนนิ่งและตารางการวิ่ง เขาลงท้ายจดหมายว่า ถ้านายมีรองเท้าสักคู่ที่คิดว่าจะเป็นรองเท้าพื้นเรียบที่ดี ส่งมาให้ฉันด้วย จะทำมาให้นายพร้อมใส่ตอนเปิดเทอม Bowerman สร้างคู่แฮนด์เมดที่มีส่วนบนจากผ้าเคลือบยางสีขาว ("แบบที่ใช้เป็นผ้าปูโต๊ะที่ยืมจากคนอื่นมาได้" เขาอธิบาย) ให้พอดีกับไซส์ของ Knight Knight บอกว่า Bowerman เลือกให้เขาเป็นคนลองรองเท้าเพราะเขา "ไม่ใช่พวกนักวิ่งที่เก่งที่สุดในทีม Bowerman รู้ดีว่าเขาใช้ผมเป็นหนูทดลองได้โดยไม่ต้องเสี่ยงมาก" 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นักวิ่งหนุ่มก็ทดสอบรองเท้าตอนฝึกซ้อมในเย็นวันหนึ่ง แต่ก็ใส่ไม่ได้นาน Otis Davis เพื่อนร่วมทีมของเขาเห็นรองเท้ารุ่นต้นแบบและอยากลองใส่ดู เขาชอบรองเท้าคู่นั้นมากจนไม่ยอมคืน จากนั้น Davis ยังชนะการแข่งชิงแชมป์สายและได้เหรียญทองจากรายการวิ่ง 400 เมตรในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1960 โดยใส่รองเท้าที่ Bowerman ทำขึ้น

นับจากนั้น Bowerman ก็สร้างรองเท้าออกแบบพิเศษให้กับนักวิ่งด้วยการวาดเส้นขอบรอบเท้า วัดความกว้าง และสังเกตลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน เช่น ส้นที่ยาวหรือข้อเท้าที่เพรียว เขาทดลองใช้สิ่งทอหลายสิบชนิด เช่น หนังจิงโจ้ กำมะหยี่ หนังกวาง หนังงู และแม้กระทั่งหนังปลา เพื่อค้นหาวัสดุที่เบา ยืดหยุ่น และคืนตัวได้ดีที่เหมาะสมที่สุด โดยเร่งเครื่องผลิตผลงานชิ้นใหม่ๆ เป็นจำนวนมากทุกสัปดาห์ เมื่อรองเท้าต้นแบบของเขามีความประณีตและเชื่อถือได้มากขึ้น เขาจึงเสาะหาพันธมิตรกับบริษัทรองเท้าอย่างต่อเนื่องโดยไม่เป็นผลสำเร็จ

ในจดหมายเดือนสิงหาคมปี 1960 ที่ส่งไปหาบริษัทในพอร์ตแลนด์เพื่อขอเหล็กมาทำพื้นตะปู Bowerman ได้เขียนไว้ว่า ผู้ผลิตรองเท้าอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนใจว่าโค้ชกรีฑาอย่างพวกเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับรองเท้ากรีฑา รองเท้าที่ดีที่สุด... ตอนนี้ผลิตขึ้นโดยชาวเยอรมัน วัสดุพื้นรองเท้าของพวกเขาไม่ได้ดีเท่าไร และผมสามารถเปลี่ยนพื้นรองเท้าของพวกเขาหรือจะทำรองเท้าของผมขึ้นมาเองก็ได้ ผมไม่คิดว่าจะมีข้อกังขาอะไรเลย อย่างน้อยก็ในความคิดของผมเอง ว่าตอนนี้ผมมีรองเท้าที่ดีที่สุดในโลกอยู่ในมือถ้าผมเพียงแค่หาบริษัททำรองเท้าอเมริกันดีๆ มาผลิตให้ได้

โอกาสก้าวแรก

ในที่สุดโอกาสนี้ก็มาถึง เมื่อ Knight สร้างความสัมพันธ์กับ Onitsuka ในปี 1964 จากความเชื่อที่ว่ารองเท้าวิ่งของญี่ปุ่นที่มีราคาถูกกว่าสามารถใช้งานได้ดีเช่นเดียวกับรองเท้าชั้นนำของเยอรมัน ต่อมา เขาและ Bowerman ลงทุนคนละครึ่งในธุรกิจด้านการนำเข้าและขายรองเท้าวิ่ง ซึ่งเป็นการเปิดทางให้กับไอเดียของ Bowerman โค้ชผู้นี้ได้แสดงทัศนคติมองโลกในแง่ดีในจดหมายถึง Onitsuka เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1964 ว่า ผมหวังว่าข้อตกลงของคุณกับคุณ Knight จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผมได้นำเสนอไอเดียที่ผมได้คิดค้นเกี่ยวกับรองเท้ากรีฑา 

Bowerman ใช้เวลาตลอดช่วงซัมเมอร์ต่อมาในการออกแบบ และในเดือนตุลาคมก็เดินทางไปโตเกียวกับ Barbara ผู้เป็นภรรยาเพื่อร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1964 ซึ่งนักวิ่งจากโอเรกอน 3 คนในความดูแลของเขาเข้าแข่งขัน สามีภรรยาคู่นี้อยู่ต่ออีก 1 สัปดาห์ก่อนที่ Bowerman จะได้พบกับ Kihachiro Onitsuka ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Onitsuka รวมถึง S. Morimoto ผู้บริหารบริษัท Bowerman อธิบายไอเดียของเขาและเยี่ยมชมโรงงานเพื่อศึกษาเครื่องตัดเย็บ เขาได้ตอกย้ำความมั่นใจในกระบวนการทำรองเท้าของญี่ปุ่นและสร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำทั้งสอง ซึ่งจะเป็นผู้ฟังที่ยอมรับต้นแบบและข้อเสนอแนะของเขาในอนาคต

"เขาคิดว่ารองเท้าวิ่งน่าจะดีกว่านี้ได้ เขาท้าทายแนวคิดที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งเรื่องการยึดเกาะ การลดแรงกระแทก ชีวกลศาสตร์ และแม้แต่กายวิภาคศาสตร์เองก็ตาม"

Jeff Johnson พนักงานประจำคนแรกของ Nike
Cortez ถือกำเนิด

ความก้าวหน้าครั้งแรกของ Bowerman กับรองเท้า Tiger เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1965 ซึ่งเป็นผลทางอ้อมของการแข่งขันกรีฑา Kenny Moore นักวิ่งระยะไกลของ University of Oregon ซึ่งต่อมาจะได้เป็นนักวิ่งมาราธอนโอลิมปิกได้วิ่งออกนอกเส้นทางในการแข่งขันวิ่ง 880 เมตรโดยเข้าไปยังช่องวิ่งของเพื่อนร่วมทีม การก้าวพลาดส่งผลให้เกิดแผลยาวลึกจากพื้นตะปูที่ด้านนอกของเท้า การบาดเจ็บครั้งนั้นนำไปสู่อาการกระดูกหักล้าและก่อให้เกิดหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยืนหยัดยาวนานที่สุดของ Bowerman

หลังจากที่ Moore เริ่มฟื้นตัว เขาได้ฝึกซ้อมโดยใส่ Onitsuka Tiger TG-22 ซึ่งเป็นรองเท้ากระโดดสูงที่ Blue Ribbon Sports เคยขายเป็นรองเท้าวิ่งโดยไม่ตั้งใจ เมื่อผลเอ็กซ์เรย์ของ Moore ชี้ให้เห็นการแตกหักของกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 3 Bowerman จึงขอดูรองเท้าของเขาแล้วฉีกแยกส่วนประกอบออกมาดูทันที ถึงแม้รองเท้าจะมีระบบลดแรงกระแทกที่นุ่มสบายบริเวณส้นและปลายเท้า แต่กลับไม่มีการรองรับที่อุ้งเท้า "ถ้าคุณเริ่มลองออกแบบรองเท้าให้มันดัดกระดูกฝ่าเท้างอจนหัก คุณคงทำอะไรให้ดีไปกว่านี้ไม่ได้" Bowerman บ่นอย่างอารมณ์เสีย "ไม่เท่านั้นนะ แต่ยางที่พื้นรองเท้าด้านนอกก็สึกหรออย่างกับขนมปังข้าวโพด" 

ในการแก้ไข TG-22 นั้น Bowerman ได้สร้างรองเท้าวิ่งที่มีพื้นรองเท้าชั้นในที่ช่วยลดแรงกระแทก ยางฟองน้ำนิ่มที่ปลายเท้าและด้านบนของส้น ยางฟองน้ำแข็งตรงกลางส้น และพื้นรองเท้าชั้นนอกเป็นยางเนื้อแน่น ในเดือนมิถุนายนปี 1965 เขาได้ส่งคำแนะนำและตัวอย่างรองเท้าไปให้กับ Onitsuka

รุ่นต้นแบบ Kenny Moore: ด้านข้าง

รุ่นต้นแบบ Kenny Moore: พื้นรองเท้าชั้นนอก

1 เดือนต่อมา Morimoto ตอบกลับมาเพื่อยืนยันว่าเขากำลังผลิตรองเท้าฝึกซ้อมตามคุณสมบัติจำเพาะอยู่ แต่ Onitsuka มี "ความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับยางฟองน้ำที่ใส่มาที่ส้น" แม้จะมีข้อโต้แย้ง Bowerman ก็ยืนกรานให้จัดวางยางฟองน้ำไว้ที่ส้น โดยกล่าวว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเอ็นร้อยหวายได้ ในฤดูร้อนปีนั้น Moore หายจากอาการกระดูกหักล้าและวิ่งเก็บระยะทางได้กว่า 1,000 ไมล์ขณะที่ใส่ผลงานล่าสุดของ Bowerman รองเท้า Onitsuka รุ่นต้นแบบคู่แรกๆ มีแผ่นรองที่แตกต่างกัน 2 แผ่นที่ส้นกับจมูกเท้าและมีส้นแคบ ในที่สุด ชิ้นส่วนเหล่านี้ก็ได้กลายร่างเป็นพื้นรองเท้าชั้นกลางเต็มความยาวเท้าที่ Bowerman เคยคิดค้นขึ้นมาตอนแรก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ในท้ายที่สุดได้กลายเป็นจุดขายหลักของรองเท้า

ต่อมา Onitsuka ได้เปิดตัว Tiger Cortez ซึ่งออกแบบเชิงโครงสร้างโดย Bowerman โดยแคตตาล็อกในช่วงต้นปี 1967 ได้อธิบายไว้ว่า ดีไซน์มาให้เป็นรองเท้าวิ่งระยะไกลที่ดีที่สุดในโลก พื้นรองเท้าชั้นกลางที่ทำจากฟองน้ำนุ่มตลอดช่วงจมูกเท้าและส้นช่วยดูดซับแรงกระแทกบนพื้นถนน ส่วนพื้นรองเท้าด้านนอกแบบหนาแน่นสูงก็ช่วยให้ใส่ได้ทนทานยาวนานยิ่งขึ้น

Nike Cortez

ลูกค้าต่างชอบกันมาก Cortez เป็นรองเท้าที่มั่นคงและใส่สบายรุ่นแรกสำหรับการวิ่งบนท้องถนน รองเท้ารุ่นนี้ดูเท่และเปิดตัวครั้งแรกเมื่อการวิ่งกลายเป็นกิจกรรมยามว่างของชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับความนิยมมาจาก Bowerman และหนังสือปี 1967 ของเขาที่ชื่อว่า "Jogging" และเมื่อ Knight กับ Bowerman เลิกนำเข้าและจัดจำหน่ายรองเท้าวิ่งผ่าน Blue Ribbon Sports และเปิดตัว Nike ในฐานะผู้ออกแบบและผู้ผลิตรองเท้ากีฬา ซิลลูเอท Cortez ก็ได้ส่งต่อไปสู่แบรนด์ใหม่นี้ นอกจากนี้ยังทำให้ Bowerman เป็นเจ้าของสิทธิบัตรจากนวัตกรรมพื้นรองเท้าชั้นกลางที่ลดแรงกระแทกอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคมปี 1973 Runner's World ได้ขนานนาม Nike Cortez ว่าเป็น "รองเท้าซ้อมวิ่งระยะไกลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา"

โฆษณา Nike Cortez ปี 1973
โฆษณา Nike Cortez Tradition ปี 1977
วาฟเฟิลส้มหล่น

อย่างไรก็ตาม Cortez เป็นเพียงผลงานชิ้นแรกในหมู่นวัตกรรมที่ได้รับการยกย่องของ Bowerman ซึ่งต่อมาจะมีสิทธิบัตรจดทะเบียนถึง 8 ใบ อันรวมถึงรองเท้าที่มีส้นด้านหลังภายนอก การจัดวางพื้นตะปูที่ดีขึ้น และแผ่นรองพื้นตะปูลดแรงกระแทก โดยยังเป็นความสำเร็จครั้งแรกกับภารกิจอันยาวนานของเขาในการสร้างรองเท้าวิ่งที่เบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย 

"เขาคิดว่ารองเท้าวิ่งน่าจะดีกว่านี้ได้" Jeff Johnson พนักงานประจำคนแรกของ Nike กล่าวถึง นวัตกรรมช่วงแรกๆ ของ Bowerman "เขาท้าทายแนวคิดที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งเรื่องการยึดเกาะ การลดแรงกระแทก ชีวกลศาสตร์ และแม้แต่กายวิภาคศาสตร์เองก็ตาม"

ต่อมา Bowerman ต้องการสร้างรองเท้าที่มีการยึดเกาะดีเยี่ยมบนหลายพื้นผิวโดยไม่มีปุ่มตะปูโลหะ เขาผุดคิดทางแก้ปัญหาขึ้นมาระหว่างมื้อเช้าในปี 1970 ขณะที่ ใคร่ครวญพิจารณารอยยุบตัวจากการราดน้ำเชื่อมของวาฟเฟิลบนจาน "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสลับด้านแพทเทิร์นนี้แล้วสร้างวัสดุที่มีแกนวาฟเฟิลแบบนูนขึ้นมา" เขาสงสัย ต่อมาเขาได้เอาเครื่องทำวาฟเฟิลของครอบครัวมาและสลับไปใช้ยูรีเทนที่ละลายแล้วแทนแป้งแพนเค้ก น่าเสียดายที่ในตอนแรก Bowerman ลืมทาเตาด้วยสารกันติด ทำให้เตา 2 ด้านติดแน่นเข้าด้วยกันจนเปิดไม่ได้ แม้จะมีอุปสรรค เขาก็ยังคงมุ่งมั่น และคิดค้นวัสดุยางที่ยืดหยุ่น สปริงตัวได้ดี และเบาพร้อมรูปแบบลายตารางนูนสูงที่ยึดเกาะได้ดี 

ทีม Blue Ribbon Sports ได้ลงแข่งเพื่อเปิดตัวพื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลในการคัดตัวทีมกรีฑาโอลิมปิกสหรัฐฯ ในยูจีนปี 1972 ที่กำลังจะมาถึง โดยมีส่วนบนไนลอนที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น คู่กับพื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลที่ตัดด้วยมือจากแผ่นยางที่ผลิตในเมืองยูจีน Geoff Hollister พนักงานของ Blue Ribbon Sports ยุคแรกๆ ได้เชื่อมส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นรองเท้าให้ผู้เข้าแข่งขันคัดตัวจำนวนหนึ่งสวมใส่ระหว่างฝึกซ้อมหรือในสนามแข่งที่ Hayward Field

รองเท้าทำมือคู่นี้ได้รับการขนานนามว่า Moon Shoe จากรอยพิมพ์ที่ไม่เหมือนใครเวลาที่พื้นรองเท้าเหยียบลงบนดิน ซึ่งคล้ายกับรอยเท้าบนดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศชาวอเมริกันทิ้งไว้ในระหว่างภารกิจ Apollo ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ รองเท้ารุ่นแรกๆ อาจจะหยาบ แต่นักวิ่งก็ชอบสัมผัสและการยึดเกาะของพื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลและนวัตกรรมนี้ก็ถูกพูดถึงกันแพร่หลายอย่างรวดเร็ว Bowerman ได้ขัดเกลาแนวคิดต่อและพัฒนา Waffle Trainer ขึ้นมาในปี 1974 

ปุ่มสตั๊ดยางของพื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลให้ความยืดหยุ่นและการลดแรงกระแทกที่ดึงดูดทั้งนักกีฬาชั้นแนวหน้าและนักวิ่งทั่วไป นิตยสาร TIME นิยามรองเท้ารุ่นนี้ไว้ว่า "ครองใจกองทัพนักวิ่งจ๊อกกิ้งวันสุดสัปดาห์ที่ทุกข์ทรมานจากรอยฟกช้ำบนเท้า" Waffle Trainer นำพาให้ Nike มีชื่อเสียงในแวดวงรองเท้ากีฬาระดับโลก ทำให้ Nike สามารถเติบโตในแบบที่ไม่มีใครเทียบได้

มรดกที่ Bowerman ทิ้งไว้ในฐานะนักคิดและนักนวัตกรรมคนเริ่มแรกจะถูกเชื่อมโยงกับพื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลตลอดไป ซึ่งเช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์อันยอดเยี่ยมมากมาย พื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลนั้นเรียบง่ายและเข้าใจได้ง่ายจนเป็นที่นิยมในทันทีและในวงกว้าง พื้นรองเท้าลายวาฟเฟิลเวอร์ชันต่างๆ ยังคงถูกนำมาใช้อยู่ในรองเท้า Nike ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับผลงานอื่นๆ อีกมากมายของ Bowerman ที่สร้างประโยชน์ให้กับนวัตกรรมรองเท้าวิ่ง อันรวมถึงส้นที่ยกสูงขึ้น ส่วนบนไนลอน และพื้นรองเท้าชั้นกลางแบบต่อเนื่อง 

อุดมคติในรองเท้าของ Nike ได้พัฒนาไปแล้ว แต่ความหมกมุ่นของ Bowerman ในการสร้างสรรค์สินค้าที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถแสดงศักยภาพสูงสุดของตนยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมของ Nike ต่อไป ตัวอย่างร่วมสมัยพบได้ในเทคโนโลยีรองเท้าต่างๆ เช่น พื้นรองเท้าชั้นนอกแบบเชื่อมกัน Nike Free และการรองรับแบบทอกระชับในตัวของส่วนบน Nike Flyknit 

  • เรื่องราว
  • ผลกระทบ
  • บริษัท
  • ห้องข่าว
      • © 2024 NIKE, Inc. สงวนลิขสิทธิ์